17 พฤษภาคม 2552

กมธ.วุฒิ 3 คณะสรุปเหตุการณ์7 ตุลา

กมธ.วุฒิ 3 คณะสรุปเหตุการณ์7 ตุลา ตำรวจทำเกินกว่าเหตุ ผิดหลักสากล แล้วใครรับผิดชอบ

คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาฯ 3 คณะที่ตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาสอบสวนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลา 2551 ที่ตำรวจยกกำลังเข้าสลายการชุมนุมของพันธมิตร ที่เคลื่อนตัวไปชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา เพื่อไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบาย ด้วยการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ล้มตายเป็นจำนวนมาก ได้สรุปผลการสอบสวนออกมาแล้ว


3 กมธ.วุฒิ สรุปผลสอบเหตุสลายม็อบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมตำรวจทำเกินกว่าเหตุ ผิดหลักสากล และ"น้องโบว์" เสียชีวิตจากการโดนแก๊ซน้ำตา
คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ในคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล คณะอนุกรรมาธิการพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ในเหตุการณ์หน้าลานพระบรมรูปฯวันที่ 7 ต.ค.
ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขและคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและติดตามสถานการณ์ความรุนแรงและปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง..
"รายงานผลการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงวันที่ 7ตุลาคม"
พล.ต.ต.เกริก กัลยาณมิตร รองประธานกมธ.ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ฯ กล่าวว่า คณะอนุกมธ.ตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ ที่ปรากฏ พบข้อสังเกต 11 ข้อ คือ
1. รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ยังมีเวลาแถลงนโยบายได้ถึงวันที่ 9 ต.ค.แต่กลับรีบแถลงวันที่ 7 ต.ค. ทั้งที่ทราบว่ามีมวลชนมาปิดล้อมรัฐสภาตั้งแต่คืนวันที่ 6 ต.ค.ซึ่งควรมีเวลาในการเจรจากับผู้ชุมนุม
2. รัฐบาลสามารถเลือกสถานที่อื่นแทนที่ทำการรัฐสภาได้ซึ่งทางรองประธานสภา คนที่ 2 ก็หาที่สำรองไว้ 3 แห่ง แต่รัฐบาลกลับเดินหน้าใช้รัฐสภาแถลงนโยบายทั้งที่รู้ว่าจะเกิดความรุนแรง
3. รัฐบาลเข้ามาแถลงนโยบายในรัฐสภาโดยใช้การสลายฝูงชนรุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากและบาดเจ็บสาหัส
4. หลังแถลงนโยบาย รัฐบาลมิได้สั่งการให้ตำรวจหยุดสลายการชุมนุม แต่ยังมีการสลายการชุมนุมต่อจนถึง 24.00 น.
5.การสลายการชุมนุมไม่ทำตามหลักสากลและแผนกรกฏ 48 ไม่มีการเจรจาและทำตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก
6. ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเลย โดยไม่เริ่มจากการใช้โล่และกระบองผลักดันหรือใช้น้ำฉีด
7. ตำรวจเจาะจงเลือกใช้แก๊สน้ำตาของจีน ที่มีสารระเบิดมากถึงขั้นทำลายอวัยวะคนได้ ซึ่งการสลายการชุมนุมในช่วงเช้า มีคนขาขาดแขนขาด แต่ตำรวจยังใช้วิธีการแบบเดิมสลายการชุมนุมตลอดทั้งวัน
8. ตำรวจยิงกระสุนแก๊สน้ำตาหรือขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมโดยตรง
9. หลังจากส.ส.ส.ว.ออกจากรัฐสภาแล้วตำรวจยังสลายการชุมนุมแบบเดิมขณะผู้ชุมนุมเดินทางกลับ ถือว่าไม่สมเหตุสมผลและไม่ชอบธรรม
10. การสลายการชุมนุมมีตำรวจบาดเจ็บและทรัพย์สินราชการเสียหาย แต่นายกฯไม่คำนึงถึง
11.นายกฯ และรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกระดับ ไม่แสดงความรับผิดชอบและไม่ตระหนักผลกระทบจากการสลายการชุมนุมที่ทำให้ทัศนคติระหว่างตำรวจและประชาชนไปในทางลบ
ทั้งหมดขอให้เป็นบทเรียนครั้งสุดท้ายของการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้เกิดความสูญเสีย
พล.ต.ต.เกริก กล่าวต่อว่า การสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจคงไม่มีความรู้ในการใช้อาวุธ และไม่ทราบว่า ตชด. นำเบิกแก๊สน้ำตามาจากไหน ดังนั้นเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. รัฐบาลจะต้องตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ขึ้นมารับผิดชอบ จากกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่มีผู้มารับผิดชอบต่อ และเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น เนื่องจากตำรวจมาจากหลายหน่วยงาน หลายโรงพัก ทำให้มีความสับสนในการสั่งการ ดังนั้น ผบ.ส่วนหน้าจะต้องมาเล่นในสนามจริงๆ ไม่ใช่อยู่ที่ บชน. แล้วฟังวอ เพื่อสั่งการเท่านั้น
พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เบี้ยวนิ่ม อนุกมธ.พิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตฯ และหัวหน้าหน่วยนิติเวช รพ.รามาธิบดี ผู้ชันสูตรศพน.ส.อังคณา กล่าวว่า น.ส.อังคณา เสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล ทั้งนี้เมื่อศพมาถึงพบว่า ปนเปื้อนแก๊สน้ำตา จึงต้องล้างหลายครั้งก่อนชันสูตร เมื่อชันสูตรพบว่า เสื้อผ้าฉีก มีรอยไหม้ดำ บาดแผลใหญ่บริเวณอกด้านซ้ายต่อเนื่องมาถึงแขน ขนาด 40x14 ซม. ลึกถึงซี่โครง ซี่โครงหักตลอดแนว ปอดช้ำเลือดออกกระจาย ม้ามแตก เยื่อหุ้มหัวใจและผนังทะลุ
เมื่อส่องกล้องจุลทรรศน์พบชัดเจนว่า เป็นเพราะแรงอัดและความร้อน สารเคมีที่ปนเสื้อผ้าก็เป็นสารประกอบของระเบิดแก๊สน้ำตาไม่ใช่ระเบิดปิงปองหรือระเบิดสังหาร และเป็นการระเบิดใกล้ตัว ไม่ได้ชิดตัว จึงไม่ใช่การพกระเบิดแล้วระเบิดเอง
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อนุกมธ.ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองฯ กล่าวว่า สตง. ตรวจพบว่า กองพลาธิการและสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซื้อระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีน โดยเป็นแบบขว้าง 17,000 ลูก เมื่อปี 36-38 แบบยิงจำนวน 40,800 ลูก เมื่อปี 36 และยังพบว่า รองผบ.ตร.คนหนึ่ง ขอระเบิดแก๊สน้ำตาจาก 4 หน่วย ซึ่งเป็นอาวุธเก่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 51
โดยระบุชัดว่า “ ขอชนิดขว้างผลิตในประเทศจีน ” เพื่อควบคุมการชุมนุม ไม่ใช่ขอการกองพลาธิการ นอกจากนี้ พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้เชี่ยวชาญสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มาให้ข้อมูลว่า ระเบิดแก๊สน้ำตาดังกล่าว มีซีโฟร์ 7 กรัม จุดชนวนแล้วพุ่ง 200-300 ฟุต ต่อวินาที สามารถเป็นอันตรายต่อร่างกาย และในลูกระเบิด ส่วนผสมที่เป็นแก๊สน้ำตาจะเสื่อมใน 5-8 ปี ส่วนส่วนผสมที่เป็นซีโฟร์ ไม่หมดอายุ

ทั้งนี้ระเบิดแก๊สน้ำตาดังกล่าว ตำรวจเรียกคืนมาเก็บหมด เพราะใช้ตั้งแต่ พฤษภา 35 และหมดอายุแล้ว นอกจากนี้ ฝ่ายตำรวจยังเคยระงับการซื้อระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีนเพราะพบว่า ร้ายแรง ไม่รู้ว่าทำไมจึงนำกลับมาใช้อีก ส่วนฝ่ายตำรวจใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาไปจำนวนเท่าใด อนุฯกำลังตามตรวจสอบอยู่
นายสมชาย แสวงการ ประธานอนุกมธ.ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองฯ กล่าวว่า อนุกมธ.ตรวจสอบหลักฐานพบเหตุผิดปกติ 7 ข้อ คือ
1. การสลายการชุมนุมที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพของประชาชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
2. รัฐบาลสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงดังกล่าวได้แต่ไม่ทำ
3. การกระทำของตำรวจเกิดจากมติครม.เมื่อคืนวันที่ 6 ต.ค.ฉะนั้นรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องรับผิดชอบ
4. ตำรวจปฏิบัติข้ามขั้นตอนที่ 2 ของแผนกรกฏ 48 ไม่มีการเจรจาและช้ำกำลังจากเบาไปหาหนัก และละเลยข้อ ฝ.ในแผนกรกฏ 48 ที่ให้พึงระลึกว่า การชุมนุมในขอบเขตของกฎหมายเป็นสิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติละมุนละม่อม แต่ปรากฏว่า ตำรวจทำการรุนแรงมากตลอดทั้งวัน
5. ตำรวจขาดดุลพินิจและความไม่เหมาะสมของการใช้อาวุธในการสลายการชุมนุม เพราะการสลายการชุมนุมช่วงเช้าพบผู้บาดเจ็บสาหัสหลายราย ขาขาด แต่ยังคงใช้อาวุธรุนแรงดังกล่าวตลอดทั้งวัน
6. พบว่า มีการยิงกระสุนแก๊สน้ำตาเข้าใส่รถพยาบาลและมีเจ้าหน้าที่พยาบาลถูกยิงด้วยกระสุนยางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือว่า ขัดหลักสากลในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุ และขัดขั้นตอน 4 ของแผนกรกฏ 48
7. งบเยียวยาของรัฐบาล หลักเกณฑ์การพิจารณายังไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรม อาจกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล กล่าวว่า รัฐบาลน่าจะยับยั้งตั้งแต่มีการสลายการชุมนุมในครั้งแรก เนื่องจากรู้ดีว่าแก๊สน้ำตาส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง แต่ในทางกลับกันกลับใช้การสลายการชุมนุมที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ตนอยากตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่รัฐถึงมีการเก็บกวาดหลักฐานเร็วมาก ซึ่งตามหลักสากลควรมีการพิสูจน์หลักฐานก่อน

นี่เป็นผลสอบของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา แต่กรรมการสอบสวนในส่วนของรัฐบาลยังไม่เห็นความก้าวหน้าว่าไปถึงไหน เพราะไม่มีใครออกมาแถลงให้ได้รับทราบ หรือกำลังยื้อเวลาอยู่หรือไม่
แต่สำหรับท่าทีของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ดูเหมือนจะยังเฉยเมยต่อผลสรุปที่ออกมา โดยกล่าวแต่เพียงว่า ยังไม่เห็นผลการสอบสวน เพิ่งทราบจากสื่อมวลชนเหมือนกัน
เมื่อถามว่า รัฐบาลจะรับฟังเฉพาะผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่รัฐบาลตั้งขึ้นใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวเลี่ยงว่า คณะกรรมการชุดอื่นตนก็ไม่ทราบว่ามีใครสอบสวนบ้างก็ต้องดูว่าใครมีสิทธิ์ทำอะไรและผลเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายก็ต้องดูข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์หรือผลที่แท้จริงที่จะสรุปออกมา
นี่เป็นผลสอบที่รัฐบาลต้องรับฟัง ไม่ใช่รอแต่ผลสอบของคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา ซึ่งกรรมการบางคนก็ลาออกไปแล้ว ไม่รู้เกิดจากสาเหตุอะไร...
ข้อมูลจาก http://thecityjournal.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น